1,604 total views
ว่ากันด้วยเรื่อง “ฝุ่น”
ยาวหน่อยแต่อยากให้อ่านดู
สัปดาห์ที่แล้วเพิ่งไปหาข้อมูลเขียนสกู๊ปเรื่อง “PM 2.5” เพราะกำลังจะมีโครงการนำร่องเขตอากาศสะอาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ที่กรมควบคุมมลพิษทำร่วมกับ กทม. และอีกหลายหน่วยงาน เป็นครั้งแรกที่ได้รู้ข้อมูลของสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวอย่าง “ฝุ่น” ที่หลายคนอาจไม่สนใจว่ามันจะกระทบอะไรกับชีวิต
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฝุ่นละอองที่เป็นมลพิษทางอากาศ ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ตรวจวัดออกมาเป็นดัชนีคุณภาพอากาศภาพรวมของแต่ละพื้นที่ ต้องวัดค่าฝุ่นละอองรวม 6 ชนิด คือ ก๊าซโอโซน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ PM 10 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน และ PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน
แต่… ที่ประเทศไทยเอามาวัดแสดงดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ทุกวันนี้ ใช้เพียงแค่ 5 ชนิด ไม่มี PM 2.5 มาวัดรวมด้วย นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องทำความรู้จัก PM 2.5 ให้มากขึ้น
PM 2.5 หรือ Particulate Matter 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก เล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมถึง 25 เท่า มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ที่สำคัญ!!! ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ (PM 10 ขนจมูกยังกรองได้) นั่นหมายความว่า ผลจากการสูดเอา PM 2.5 เข้าไปในร่างกายจะส่งไปถึงระบบโลหิต ระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง หนักสุดคือเป็นมะเร็ง และเสียชีวิตตามมา
ปี 2556 นี่เอง ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้ PM 2.5 อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง และข้อมูลจาก State of Global air รวบรวมผลว่า แต่ละปี มีคนไทยตายจาก PM 2.5 ประมาณ 37,000 คน (ผลรวมการตายจากฝุ่นละอองโดยรวม 50,000 คน)
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นชนิดนี้มี 4 อย่าง คือ การคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต แน่นอนว่าที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน หลักๆ ต้องมาจากการคมนาคม รถเยอะ ควันเยอะ ฝุ่นก็เยอะตามมา สาเหตุรองจากนั้นคือฝุ่นละอองแบบที่ลอยข้ามเขตมาจากจังหวัดใกล้เคียง
คำถามคือ… ทำไม? ประเทศไทย ไม่เอา PM 2.5 มาวัดเป็นดัชนีคุณภาพอากาศ ทั้งที่ถ้าคิดกันตามความเป็นจริง ค่า PM 2.5 จะคล้อยตามไปในทางเดียวกันกับ PM 10 คือถ้าค่า PM 10 มาก PM 2.5 ก็จะมากด้วย เท่ากับว่า ถ้าเอาฝุ่น 6 ชนิดมาวัดเป็นค่าเฉลี่ย ค่า PM 2.5 มีส่วนสำคัญทำให้ตัวเลขเปลี่ยนแปลงไปถ้าคุณภาพอากาศแย่ก็หมายความว่าค่าเฉลี่ยที่ออกมาจะแย่มากขึ้นไปอีก…
นั่นแหละ… กรีนพีซ ประเทศไทย ถึงออกมารวมรายชื่อคนที่ต้องการให้เอา PM 2.5 มาวัดรวมในดัชนีคุณภาพอากาศ และเรียกร้องให้ปรับมาตรฐานค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ให้เป็นตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไม่ให้เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไทยกำหนดให้ปล่อยได้ถึงไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ดูข้อมูลจากภาพแล้วไปคิดเอาละกันว่าค่าเฉลี่ย PM 2.5 (ข้อมูลปี 60) ตามสถานีตรวจวัดที่เรามีอยู่ตอนนี้ มันได้มาตรฐานแค่ไหน
…แล้วหลังจากนี้จะอยู่กันยังไง ถ้ารู้ว่าทุกลมหายใจที่สูดเข้าไปมันมีฝุ่นละอองที่พร้อมจะทำร้ายร่างกายเราอยู่ตลอด