1,578 total views
เราเคยไปทำสกู๊ปสัตว์หิมพานต์มาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นทำเรื่องช้างสิบตระกูล เป็นสัตว์ประจำทิศที่อยู่ด้านทิศเหนือของพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วันนี้มีโอกาสอีกครั้ง ได้มาทำสกู๊ปสัตว์หิมพานต์ สัตว์ประจำทิศอีก 3 กลุ่มที่เหลือ คือ ม้า โค สิงห์ และสัตว์ผสมต่างๆ ที่ปั้นโดยกลุ่มช่างปั้นปูนสดที่จังหวัดเพชรบุรี
ก่อนจะมาที่นี่ เราหาข้อมูลและตั้งคำถามกับตัวเองก่อนเลยว่า “การปั้นปูนสดคืออะไร?” จริงๆ ก็พอนึกภาพตามได้ว่าน่าจะใช้ปูนมาปั้นแทนการปั้นด้วยดิน แต่แล้วชิ้นงานที่ได้มันจะต่างจากการปั้นแบบที่เคยเห็นมายังไงเรายังนึกภาพไม่ออก
พอมาถึงบ้านของพี่สมชาย บุญประเสริฐ หัวหน้าทีมปั้นปูนสด ได้เข้าไปพูดคุยกับช่างปั้น ไปดูการทำงานของพวกเขาจริงๆ ถึงรู้ว่า การปั้นงานประติมากรรมด้วยปูนสดมีเสน่ห์และความน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การผสมปูน…
ปูนที่ใช้ปั้นแต่งเก็บรายละเอียดผิวชั้นสุดท้ายของชิ้นงานเป็นปูนที่ผสมขึ้นมาเอง มีส่วนประกอบจากปูนขาว ทราย เยื่อกระดาษ น้ำตาล และกาวหนังสัตว์ ที่นำมาตำรวมกันจนผสมเป็นเนื้อเดียว แน่นอนว่าส่วนประกอบพวกนี้จะทำให้เนื้อปูนยึดติดกันดี และแข็งตัวเป็นรูปทรงได้ง่าย
ส่วนขั้นตอนการทำต้องขึ้นโครงชิ้นงานด้วยเหล็กก่อน และขึ้นโกลนปูนซีเมนต์เพื่อเป็นรูปทรงคร่าวๆ ประมาณร้อยละ 70 ของชิ้นงาน สุดท้ายถึงจะนำปูนสดที่ตำได้มาปั้นแต่งเก็บรายละเอียดชิ้นงานให้สวยงาม
เสน่ห์ของการปั้นปูนสดที่เห็นชัดเจน ด้วยความที่ปูนแห้งง่าย… นั่นหมายความว่าช่างปั้นต้องปั้นและสร้างลวดลายให้สมบูรณ์ในเวลาจำกัด เพราะถ้าปูนแห้งแข็งตัวแล้วจะไม่สามารถมาปรับรูปทรงได้ใหม่เหมือนการปั้นดิน ถ้าจะแก้ต้องแงะชิ้นส่วนออกมาทำใหม่ทั้งชิ้น ช่างปั้นแต่ละคนจึงเป็นช่างฝีมือที่มีประสบการณ์ปั้นมามากกว่า 10 ปีเพื่อให้งานออกมาสวยงาม สมบูรณ์แบบที่สุด
การปั้นปูนสดของที่นี่ช่างจะรับผิดชอบปั้นแบบหนึ่งคนหนึ่งชิ้น…. นั่นหมายความว่า แม้ชนิดของสัตว์จะเป็นชนิดเดียวกัน ชื่อเดียวกัน แต่ลวดลายที่ออกมาจะเกิดจากจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์เฉพาะที่ต่างกันของช่างแต่ละคน ชิ้นงานที่ได้จึงไม่มีชิ้นไหนเหมือนกัน เรียกได้ว่า “ทุกชิ้นมีหนึ่งเดียวในโลก” ต่างจากการปั้นด้วยดินแล้วนำไปทำพิมพ์ที่จะได้ชิ้นงานที่รูปทรงเหมือนกันเป๊ะๆ
อีกหนึ่งเสน่ห์คือลวดลายที่พริ้วไหวอ่อนช้อยของชิ้นงาน ที่ช่างปั้นปูนใช้มือปั้นแต่งด้วยออกมาเองทั้งหมด ทำให้เห็นลวดลายที่คมชัดและประณีต
ที่สำคัญ ปั้นปูนสด ปั้นเสร็จแล้วคือเสร็จเลย เนื้อปูนจะอัดแน่นอยู่ในชิ้นงาน ไม่สามารถเอาปูนไปทำงานชิ้นใหม่ได้ ทำให้แต่ละชิ้นมีน้ำหนักเยอะ ต่างกับการปั้นด้วยดินแล้วนำต้นแบบที่ได้ไปหล่อทำพิมพ์ ที่ดินเหล่านั้นสามารถนำไปปั้นชิ้นงานใหม่ได้อีกเรื่อยๆ และชิ้นงานที่หล่อเป็นไฟเบอร์กล๊าสจะมีน้ำหนักเบากว่า
นี่เล่าถึงแค่การปั้นปูน ยังไม่รวมว่าต้องทำเป็นสัตว์หิมพานต์หลากชนิด และสัตว์ผสมอีกรวมแล้ว 200 กว่าชิ้น ที่รายละเอียดทั้งหมดให้เล่าคงไม่จบง่ายๆ
ที่เขียนมายาวๆ อยากแบ่งปันการปั้นปูนสดที่ช่างปั้นบอกว่ามันเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของพวกเขา และเราเองก็คิดว่าควรจะส่งต่อให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย